(Hand Foot and Mouth Disease)
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในเขตร้อนชื้นพบโรคประปรายตลอดปี ไม่มีฤดูกาลที่ชัดเจน และมักเกิดบ่อยขึ้นในช่วงอากาศเย็น และชื้น ในเขตหนาวพบมากในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง ในประเทศไทยไม่พบลักษณะการระบาดตามฤดูกาลที่ชัดเจน แต่สังเกตว่าพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยเริ่มพบผู้ป่วยมากตั้งแต่เดือนมิถุนายนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนธันวาคม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– 17 มิถุนายนจาก 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) มีรายงานพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จํานวน 8,577 ราย อัตราป่วย 13.50 ต่อแสนประชากรยังไม่มีรายงานเสียชีวิต ส่วนใหญ่ พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 3 ปี จำนวนร้อยละ 81.89 และยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
สาเหตุ
โรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการหนึ่งซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้ ที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีหลายชนิด ที่พบบ่อย คือ ไวรัสคอคแซกกี เอ 16 ไวรัสคอคแซกกี เอ สายพันธุ์อื่น ๆ ไวรัสเอนเทอโร 71 และไวรัสเอคโค เป็นต้น โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยจะมีอาการไข้ มีตุ่มหรือแผลแดงอักเสบที่บริเวณลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า ในเขตร้อนชื้นพบโรคประปรายตลอดปี ไม่มีฤดูกาลที่ชัดเจน และมักเกิดบ่อยขึ้นในช่วงอากาศเย็นและชื้น
อาการ
หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมรับประทานอาหารและเบื่ออาหาร เนื่องจากมีจุดหรือตุ่มแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ (มักอยู่ที่ด้านข้างของนิ้ว) ฝ่าเท้า (มักอยู่ที่ส้นเท้า) และอาจพบที่บริเวณหัวเข่า ข้อศอก หรือก้นได้ ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส (maculo - papular vesicles) บริเวณรอบ ๆ อักเสบและแดง ในปากจะพบเป็นตุ่มแดงที่ลิ้นซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ (ulcer) อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน โดยทั่วไปโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อย เป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย พบผู้ป่วยน้อยรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีอาการรุนแรงเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
การติดต่อ
ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือน้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะผ่านเข้าไปที่เยื่อบุของคอหอย และลงไปที่ลำไส้ โดยเชื้อไวรัสจะขยายเพิ่มจำนวนที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอหอยรวมทั้งทอนซิล และเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ เชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้จะถูกขับออกมากับอุจจาระ เชื้อไวรัสจะอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายปนออกมากับอุจจาระเป็นระยะ ๆ ได้นานถึง 6 - 8 สัปดาห์ การติดต่อมักเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสออกมามาก จากการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสติดมาจากมือหรือของเล่นที่ปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือน้ำในตุ่มพอง หรือแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อจากอุจจาระ จะเกิดได้ถึงระยะที่ผู้ป่วยมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้ว ประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าระยะสัปดาห์แรก ๆ ส่วนการติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย โรคนี้ไม่ติดต่อโดยการหายใจ โดยทั่วไปมักเริ่มพบอาการป่วยภายใน 3-6 วัน หลังได้รับเชื้อ
การรักษา
โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยนานประมาณ 7-10 วัน เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงใช้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
การป้องกันควบคุมโรค
การแยกเด็กป่วยหรือเด็กที่สงสัยว่าป่วยออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค รวมทั้งการส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ถูกต้อง ได้แก่ การล้างมือ การไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน การป้องกันการไอ-จามรดกัน เป็นต้น เหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีมาตรการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และดำเนินการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในสถานศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาด เมื่อพบว่ามีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ดังต่อไปนี้
- เร่งรัดมาตรการสุขาภิบาลในสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กในทุกหมู่บ้าน โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมทุกแห่ง ศูนย์การค้าที่มีเครื่องเล่น ต้องจัดให้มีการทำความสะอาดพื้น ของเล่นเด็ก ห้องสุขาและห้องน้ำ อุปกรณ์สำหรับการรับประทานอาหารและแก้วน้ำ โดยใช้หลักการและแนวทางตามประกาศของกรมอนามัย
- เผยแพร่คำแนะนำ เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ช่วยป้องกันการติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ควรมีการใช้ช้อนกลาง เป็นต้น
- เฝ้าระวังตรวจเด็กทุกคน หากพบเด็กที่มีอาการโรคมือ เท้า ปาก ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน 7-10 วันหรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ
- นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการให้แนวทางในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการระบาดแก่บุคลากรสาธารณสุข รวมถึงให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก และการป้องกันแก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา http://www.baanjomyut.com/library_2/hand_foot_and_mouth_disease/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น