- การนวดไทย หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจับ การดัด การประคบ การอบ หรือวิธีการอื่นตามศิลปะการนวดไทย หรือการใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย (ความหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 แลประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2544 เรื่องการเพิ่มประเภทการนวดไทยในสาขาการแพทย์แผนไทย)
ข้อสังเกต 1) การนวดมีวัตถุประสงค์เพื่อการบำบัดรักษาโรค ถือว่าเป็นการประกอบโรคศิลปะ
2) การนวดเพื่อบำบัดและรักษาโรค โดยผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ
ในส่วนของการนวดที่ไม่เข้าข่ายการประกอบโรคศิลปะ ถือว่าเป็นการนวดเพื่อสุขภาพ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
- การนวดเพื่อสุขภาพ การนวดโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความเมื่อยล้า ความเครียด ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจับ การดัด การประคบ การอบ หรือโดยวิธีการอื่นใดตามศาสตร์และศิลปะของการนวดเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ต้องไม่มีสถานที่อาบน้ำโดยมีผู้ให้บริการ
ข้อสังเกต 1) วัตถุประสงค์เพื่อการผ่อนคลาย
2) วิธีการนวดตามศาสตร์และศิลปะการนวดเพื่อสุขภาพ
3) ต้องไม่มีสถานที่อาบน้ำ โดยมีผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากสถานบริการ
ประโยชน์ของการนวดเพื่อสุขภาพ
เป็นการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกาย และสภาพจิตใจให้สมบูรณ์ คือ 2.1 ระบบการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดแดง เลือดดำ และน้ำเหลืองไหลขึ้นลงสะดวกและอยู่ในภาวะสมดุล 2.2 ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกแข็งแรง กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถขจัดของเสียในกล้ามเนื้อออกทางผิวหนัง ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความยืดหยุ่นผ่อนคลาย 2.3 ด้านจิตใจ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายกาย สบายใจ รู้สึกแจ่มใส กระฉับกระเฉงและลดความเครียด การนวดมีผลทำให้จิตใจและอารมณ์ดีขึ้น
หลักการนวดเพื่อสุขภาพ
- มีความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ได้แก่
- กายวิภาคศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย
- สรีรวิทยา ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
1) ระบบกระดูกและข้อต่อ ประกอบด้วยกระดูกแกนกลาง กระดูกระยางค์ (กระดูกแขนและกระดูกขา) และข้อต่อ หน้าที่ เป็นโครงสร้างของร่างกาย เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เอ็นและพังผืด และป้องกันอวัยวะภายในที่สำคัญ
2) ระบบกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อหัวใจ หน้าที่ ช่วยในการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย
3) ระบบไหลเวียนเลือด ประกอบด้วยระบบหัวใจ หลอดเลือด และน้ำเหลือง หน้าที่ ลำเลียงสารต่าง ๆ ในร่างกาย รักษาสมดุลกรด-ด่าง สมดุลน้ำ และรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย
4) ระบบประสาท ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาท หน้าที่ ควบคุมประสานงานของร่างกาย ให้ตอบสนองและรับรู้การทำงานและดำรงชีวิต
5) ระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้และทวารหนัก หน้าที่ ย่อยอาหาร ดูดซับอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่ร่างกายและขับถ่ายของเสียออกจาก ร่างกาย
6) ระบบหายใจ ประกอบด้วย โพรงจมูก หลอดลม ปอด กระบังลม หน้าที่ นำก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เลือดดำมาฟอกที่ปอด ได้รับก๊าซออกซิเจนเปลี่ยนเป็นเลือดแดงดังนั้นการหายใจจะมีผลทางอ้อมต่อการไหลกลับของเลือด
- เทคนิคการนวดเพื่อสุขภาพ
1) ท่านวด ท่านวดนั้นทั้งผู้ถูกนวดและผู้นวดจะอยู่ในท่าที่เหมาะสม ผ่อนคลายไม่เกร็งทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่าที่เหมาะสมสำหรับผู้ถูกนวดก็ควรเป็นท่านอนหงายหรือนอนตะแคงคู้เข่า 90 องศา (ขาล่างที่ติดกับพื้นเหยียดตรง ส่วนขาบนงอเข่า เอาส้นเท้าชิดเข่าของขาล่าง) ควรนอนบนฟูกที่ไม่นุ่มและแข็งเกินไป นอนหมุนหมอนที่มีความสูงพอเหมาะให้หัวอยู่ในระดับเดียวกับกระดูกสันหลัง สำหรับท่านั่งนิยมใช้ท่านั่งขัดสมาธิ
2) การวางมือและนิ้ว ผู้นวดควรวางนิ้ว ณ ตำแหน่งที่จะนวด เหยียดแขนตรงทั้งที่ข้อมือและข้อศอก ( แขนตึง หน้าตรง องศาได้) เพื่อลงน้ำหนักไปตามแขนสู่นิ้วหัวแม่มือ เพื่อให้การนวดเข้าตรงจุด ในบางท่าอาจใช้หัวแม่มือกด บางท่าอาจใช้อุ้งมือหรือส้นมือกด หรือบางท่าใช้ปลายนิ้วมือทั้ง 4 กด หรือบาง คราวอาจใช้นิ้วหัวแม่มือซ้อนกันเพื่อเพิ่มแรงกด ซึ่งลักษณะการวางมือก็ต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ต้องการนวดให้เหมาะสมกับท่านวดและลักษณะการวางมือ
3) ขนาดของแรงที่ใช้นวด ขนาดของแรงที่ใช้นวดควรเริ่มใช้แรงเบา ๆ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นตามลำดับให้ใช้หลักการแต่งรสมือ และพิจารณาจากอายุและสุขภาพของผู้ถูกนวด ในลักษณะการกดอาศัยการแต่งรสมือ คือหน่วง - เน้น- นิ่ง หน่วง - เป็นการลงน้ำหนักเบา เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อรู้ตัวไม่เกร็งรับการนวด เน้น - ลงน้ำหนักเพิ่มขึ้นบนตำแหน่งที่ต้องการกด นิ่ง - กดนิ่งพร้อมกำหนดลมหายใจสั้นยาวตามต้องการ และโดยมากการลงน้ำหนักมือที่กดในแต่ละรอบจะเริ่มด้วย น้ำหนักเบา น้ำหนักปานกลาง และน้ำหนักมากตามลำดับ
4) ระยะเวลาที่ใช้นวด ผู้นวดจะต้องกำหนดการนวดหรือการกดแต่ละจุดเป็นคาบ หรือระยะเวลาในการกด แบ่ง เป็น คาบน้อย หมายถึง ระยะเวลาในการกดโดยการกำหนดลมหายใจระยะสั้นของผู้นวด และคาบใหญ่ หมายถึง ระยะเวลาในการกดโดยกำหนดลมหายใจระยะยาวของผู้นวด การใช้คาบน้อยและคาบใหญ่ เพื่อความเหมาะสมของการนวดแต่ละจุด
5) ตำแหน่งนวด ตำแหน่งจุดนวดถือว่ามีความสำคัญต้องสอดคล้องกับกายวิภาคศาสตร์ของร่างกายมนุษย์อาจเป็นตำแหน่งที่กล้ามเนื้อ ร่องกล้ามเนื้อ ตามแนวหลอดเลือด แนวเส้นประสาทหรือตามข้อต่อ
- มารยาทในขณะทำการนวด
1) เวลานวดให้นั่งห่างจากผู้ถูกนวดพอสมควร ไม่ควรคร่อมตัวผู้ถูกนวด
2) ขณะนวดไม่ควรก้มหน้าจะทำให้หายใจรดผู้ถูกนวด
3) ขณะนวดควรระมัดระวังในการพูด และไม่ควรรับประทานอาหารขณะทำการนวด
4) ไม่ควรนวดให้ผู้ถูกนวดที่ไม่สบายหรือเป็นไข้
5) ไม่ควรนวดผู้ป่วยที่เพิ่งรับประทานอาหารมาไม่ถึง 30 นาที
- โรคที่ห้ามทำการนวด
1) ขณะที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
2) โรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
3) โรคติดต่อทุกชนิด เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่
4) โรคไข้พิษ ไข้กาฬ เช่น งูสวัด เริม
5) บริเวณที่เป็นมะเร็ง เพราะอาจทำให้มะเร็งกระจายตัว
6) อุบัติเหตุที่กระทบสมองและไขสันหลังภายใน 24 ชั่วโมง
7) ความผิดปกติของระบบหลอดเลือดหรือการแข็งตัวของเลือด
8) การติดเชื้อของร่างกาย
9) กระดูกหักที่ยังติดไม่แข็งแรง
10) การบาดเจ็บหรือเลือดออกที่เพิ่งเป็นใหม่ ๆ
11) บริเวณที่เป็นแผล แผลเปิด และบริเวณที่อักเสบหรือเป็นฝี
12) บริเวณที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ตำแหน่งที่ควรระวังในการนวด
1) กระหม่อมหน้าในกรณีเด็กที่กระหม่อมยังไม่ปิดสนิท
2) ทัดดอกไม้ หัวคิ้ว หน้าหู เส้นเลือดบริเวณข้างคอ
3) ร่องไหปลาร้า มุมหัวไหล่ ใต้รักแร้ บริเวณข้อศอกด้านใน บริเวณเส้นสร้อยข้อมือ
4) บริเวณลิ้นปี่ ชายโครง รอบสะดือ 1 นิ้ว
5) บริเวณใต้หัวตะคาต ใต้ลูกสะบ้า
6) สันหน้าแข้งด้านหน้า บริเวณจุดนาคบาท ใต้ตาตุ่มด้านใน
- สถานที่นวด การจัดสถานที่นวดต้องให้เหมาะสม จะมีส่วนช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดความรู้สึกสบายและสร้างทัศนคติที่ดีแก่ผู้ถูกนวด สถานที่นวด ควรอยู่ในบรรยากาศที่โล่งโปร่งสบาย อากาศถ่ายเทสะดวก สะอาด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปราศจากสิ่งรบกวน เงียบสงบ การตกแต่งสถานที่ควรใช้โทนสีและสิ่งของที่เป็นธรรมชาติ สถานที่ควรเป็นสัดเป็นส่วน ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว แต่ไม่ควนมิดชิดมากเกินไป และควรมีแสงสว่างพอสมควร
- ผู้นวด
1) มีความรู้ความสามารถในการนวด โดยเฉพาะจุดนวด หรือตำแหน่งนวด วิธีการนวด และเทคนิคการนวด
2) ต้องเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง มีการดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ
3) ควรแต่งกายสะอาด สุภาพ เรียบร้อยและมีความสะดวกในการเคลื่อนไหวขณะนวด และเหมาะสมกับสถานที่
4) รักษาความสะอาดของร่างกาย มือจะต้องสะอาด ต้องตัดเล็บให้สั้น ไม่สวมแหวนและ ล้างมือก่อนทำการนวด และไม่ควรดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ก่อนแ
5) ไม่ควรทำการนวดขณะที่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคที่สามารถติดต่อทางสัมผัสและการหายใจ
6) มีสภาพจิตใจที่เป็นปกติ มีทัศนคติที่ดีต่อการนวด เมื่อทำการนวดก็ต้องนวดด้วยสติมี สมาธิขณะนวด
- ผู้ถูกนวด
1) แต่งกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้าที่รู้สึกสบาย เนื้อผ้าไม่ควรหนาและมีปมแข็ง
2) มีความพร้อมที่ยอมรับการนวด การให้ความร่วมมือและผ่อนคลายร่างกายและจิตใจในระหว่างการนวด
3) บริเวณที่จะนวดควรสะอาด และไม่มีโรคผิวหนังที่จะแพร่เชื้อโรคได้
ก่อนท่าการนวดเพื่อสุขภาพ ประโยชน์ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับสภาพร่างกายให้สมดุล กระจายการไหลเวียนของโลหิต เป็นการยืดเส้นเอ็น และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายก่อนทำการนวด ควรทำให้ครบทั้ง 9 ท่า
- ท่าที่ 1
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง คว่ำมือทั้งสองข้างสอดไว้ใต้ต้นขาทั้งสอง โดยให้ต้นขาทั้งสองทับมือไว้ให้แน่น แขนทั้งสองเหยียดตรงอยู่ข้างลำตัว
- หายใจเข้าพร้อมทั้งเงยหน้าขึ้นสุด นับ 1-10 แล้วหายใจออก พร้อมทั้งหันหน้ากลับที่เดิม (หน้าตรง) ทุกครั้งที่ก้มศีรษะ เงย เอียงซ้าย เอียงขวา หันซ้าย หันขวา ให้หายใจเข้าทุกครั้งนับ 1-10 และพอหายใจออกก็หันหน้ากลับมาที่เดิมทุกครั้ง
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหันศีรษะ
- ท่าที่ 2
- นั่งขัดสมาธิตัวตรงเอามือขวากดเข่าขวาไว้ มือซ้ายกดที่ท้ายทอยหลังใบหูด้านซ้าย
- หายใจเข้าพร้อมทั้งหันหน้าไปทางขวาโดยให้มือซ้ายช่วยออกแรงดันด้วยจนสุด นับ 1-10 แล้วหายใจออกพร้อมกลับหันหน้ามาที่เดิม (ทำสลับกันทั้งซ้ายและขวา)
- ท่านี้ช่วยการยืดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ
- ท่าที่ 3
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง ให้งอข้อศอกขวาโดยมือขวาแตะไว้ที่ไหล่ซ้าย มือซ้ายจับที่ข้อศอกขวา
- หายใจเข้าพร้อมใช้มือซ้าย (ที่จับศอกขวาไว้แล้ว) ดันขึ้นไปจนสุดเท่าที่จะทำได้แล้วค้างไว้ นับ 1-10 แล้วหายใจออก เลื่อนมือซ้ายจับมือขวาแล้วยกข้ามศีรษะ หายใจเข้าพร้อมกับดึงข้อมือขวามาทางซ้ายจนสุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วหายใจออก แล้วเลื่อนมือขวาไขว้ไปด้านหลัง มือซ้ายจับข้อมือขวาหายใจเข้าพร้อมดึงข้อมือขวาไปทางซ้ายจนสุดค้างไว้ นับ 1-10 หายใจออกแล้วปล่อยมือกลับตามเดิม (ทำสลับกันทั้งซ้ายและขวา)
- ท่านี้ ช่วยการยืดกล้ามเนื้อสะบักและยืดข้อไหล่
- ท่าที่ 4
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง พนมมือระหว่างอก หายใจเข้า พร้อมกับออกแรงดันฝ่ามือเข้าหากันนับ 1-10 แล้วหายใจออก ค่อย ๆ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ หายใจเข้าออกแรงดันฝ่ามือเข้าหากัน ยืดลำตัว นับ 1-10 แล้วหายใจออก
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอและสะบัก
- ท่าที่ 5
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง เหยียดแขนซ้ายออกมา หันฝ่ามืออกนอกลำตัว เหยียดแขนขวาออกมาไขว้แขนซ้าย แล้วประกบมือกำให้แน่น
- หายใจเข้าดึงมือย้อนกลับมาที่อก พร้อมกับดันออกไปข้างหน้า นับ 1-10 แล้วหายใจออกพร้อมกับมือย้อนกลับมาที่อก หายใจเข้าพร้อมกับดันมือไปด้านบนจนสุดลักษณะชูแขน นับ 1-10 แล้วหายใจออก แล้วค่อย ๆ คลายมือออก
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน และมือ
- ท่าที่ 6
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง ประสานฝ่ามือไว้ที่หน้าอก
- หายใจเข้าพร้อมทั้งพลิกฝ่ามือออก เหยียดไปข้างหน้าให้สุดจนแขนตรง พยายามบีบศอกเข้าหากันมากที่สุด นับ 1-10 แล้วหายใจออก
- หายใจเข้าพร้อมดันมือที่เหยียดไปข้างหน้าให้ไปทางด้านซ้ายจนสุด นับ 1-10 แล้วหายใจออก แล้วดันมือที่เหยียดไปข้างหน้าไปทางด้านขวาจนสุด นับ 1-10 แล้วหายใจออก
- หายใจเข้าพร้อมทั้งเหยียดแขนขึ้นเหนือศีรษะจนสุด นับ 1-10 แล้วหายใจออก ค่อย ๆ ลดแขนกลับมาที่อกเหมือนเดิม
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อสะบัก ข้อศอก และข้อมือ
- ท่าที่ 7
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง เหยียดแขนออกไปข้างหน้า หันหลังมือชนกัน
- หายใจเข้าพร้อมทั้งประสานนิ้วมือเข้าหากันจากด้านหลังมือ แล้วพลิกฝ่ามือกลับ บีบอุ้งมือเข้าหากันให้ชิดกันมากที่สุด นับ 1-10 แล้วหายใจออกแล้วค่อย ๆ คลายมือออก
- ท่านี้ช่วยบริหารนิ้วมือ แก้อาการมือชา
- ท่าที่ 8
- นั่งพนมเท้า โดยเอาฝ่าเท้าประกบเข้าหากัน ใช้มือทั้ง 2 กุมฝ่าเท้าที่ประกบกันไว้
- หายใจเข้า พร้อมกับก้มศีรษะลงไปจรดเท้า ข้อศอกกางออกแตะพื้น นับ 1-10 แล้วหายใจออก แล้วค่อยกลับสู่ ท่าเดิม
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าขา
- ท่าที่ 9
- นั่งขัดสมาธิตัวตรง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือทั้งสองวางไว้ที่พื้นด้านหน้า แขนเหยียดตรง
- หายใจเข้า พร้อมกับไถมือไปข้างหน้าจนสุดให้ศีรษะแตะพื้น นับ 1-10 แล้วหายใจออก
- หายใจเข้าพร้อมทั้งเงยหน้าขึ้นค้างไว้ นับ 1-10 แล้วหายใจออก แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายกลับสู่ท่าเดิม ทำสลับกันโดยเอาขาซ้ายทับขาขวาบ้าง
- ท่านี้ช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่และต้นคอ แก้หัวไหล่ติด
เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความตึงเครียดจากการทำงาน ประกอบด้วย การนวดคลายเครียด การนวดแก้ปวดเมื่อยแขน การนวดแก้ปวดเมื่อยขา และการนวดแก้ปวดเมื่อยหลัง
- การนวดคลายเครียด เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่นนั่งทำคอมผิว เตอร์ คนงานโรงงาน ประกอบด้วย 4 ท่า ท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิตัวตรง
1) ท่านวดบ่า เพื่อคลายกล้ามเนื้อบ่าที่เกร็งตัว ทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้สะดวก แนวนวด
- บริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่า เริ่มจากแนวชิดกระดูกหัวไหล่ ถึงบริเวณฐานกระดูกต้นคอ วิธีนวด
- เริ่มจากนวดแนวบ่าซ้าย ใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 ของมือขวา อ้อมไปกดในลักษณะคว่ำมือ กดบริเวณแนวนวดร่องกล้ามเนื้อบ่า (นวด 3 เที่ยว) เริ่มจากเที่ยวที่ 1 เริ่มจากชิดกระดูกหัวไหล่ กดไล่ขึ้นบริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่าไปจนถึงฐานกระดูกต้นคอ
- เที่ยวที่ 2 กดลง กดไล่ย้อนกลับไปแนวเดิม จนถึงกระดูกหัวไหล่
- เที่ยวที่ 3 กดขึ้น กดลักษณะเช่นเดียวกับเที่ยวที่ 1จนถึงฐานกระดูกต้นคอ
- กดนวดสลับบ่าขวา วิธีการนวดเช่นเดียวกับบ่าซ้าย
- เมื่อทำครบทั้ง2 ข้างแล้วให้ใช้ฝ่ามือบีบคลายกล้ามเนื้อบ่าทั้ง 2 ข้าง
2) ท่านวดโค้งคอ เพื่อคลายกล้ามเนื้อโค้งคอ และส่งเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง แนวนวด
- บริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหลังตั้งแต่บริเวณฐานคอจนถึงท้ายทอย วิธีนวด
- เริ่มจากนวดโค้งคอด้านขวา ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวากดในลักษณะนิ้วหัวแม่มือชี้ลง บริเวณกล้ามเนื้อโค้งคอตามแนวนวด และใช้ฝ่ามือซ้ายประคองไว้บริเวณหน้าผากข้างซ้าย กดไล่กล้ามเนื้อบริเวณโค้งคอจากฐานคอถึงบริเวณท้ายทอย (กดไล่ขึ้นเท่านั้น) ประมาณ 3 เที่ยว
- กดนวดสลับทั้งโค้งคอขวาและซ้าย
- ใช้ฝ่ามือบีบคลายกล้ามเนื้อโค้งคอทั้ง 2 ข้าง
3) ท่านวดศีรษะด้านหลัง เพื่อแก้ปวดศีรษะ จุดนวด 3 จุด
- จุดที่ 1 อยู่ใต้ท้ายทอย ตรงรอยบุ๋มใต้ฐานกระโหลกศีรษะด้านขวา
- จุดที่ 2 อยู่ใต้ท้ายทอย ตรงรอยบุ๋มใต้ฐานกระโหลกศีรษะด้านซ้าย
- จุดที่ 3 อยู่ตรงกลางท้ายทอยระหว่างจุดที่ 1 และ 2 วิธีนวด จะนวดทีละจุด
- เริ่มจากจุดที่ 1 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากด กดในลักษณะนิ้วหัวแม่มือชี้ลงและใช้ฝ่ามือซ้าย ประคองหน้าผากไว้
- จุดที่ 2 ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกด กดในลักษณะนิ้วหัวแม่มือชี้ลงและใช้ฝ่ามือขวาประคอง หน้าผากไว้
- จุดที่ 3 ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากด เช่นเดียวกับจุดที่ 1 4) ท่านวดศีรษะด้านหน้า เพื่อแก้ปวดศีรษะ จุดนวด 4 จุด
- จุดที่ 1 อยู่บริเวณเหนือหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง
- จุดที่ 2 อยู่บริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง
- จุดที่ 3 อยู่บริเวณรอยต่อขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง
- จุดที่ 4 อยู่กึ่งกลางคางใต้ริมฝีปากล่าง วิธีการนวด
- จุดที่ 1 ใช้นิ้วกลางกดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง จากนั้นรูดนิ้วจากหัวคิ้วไปปลายคิ้วทั้ง 2 ข้าง ทำซ้ำ 3 เที่ยว
- จุดที่ 2 ใช้นิ้วกลางกด ใช้นิ้วหัวแม่มือรองใต้คางทั้ง 2 ข้าง
- จุดที่ 3 ใช้นิ้วหัวแม่มือกด ลักษณะชี้นิ้วหัวแม่มือลง กดทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับใช้นิ้วที่เหลือประคองไว้เหนือบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง
- จุดที่ 4 ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวากดและนิ้วที่เหลือรองใต้คาง
- การนวดแก้ปวดเมื่อยแขน เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้กำลังแขนมาก เช่น ยกของ ถางหญ้า แบ่งเป็นท่านวดแขนด้านใน และท่านวดแขนด้านนอก ท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิตัวตรง
1) ท่านวดแขนด้านใน จุดนวด
- อยู่บริเวณกึ่งกลางแขนท่อนบน (ร่องกล้ามเนื้อต้นแขนด้านใน จะคลำพบชีพจร) แนวนวด
- อยู่ทางด้านในของแขน เริ่มจากข้อพับศอกไปจนถึงข้อมือ (สร้อยข้อมือ) วิธีการนวด
- เริ่มจากข้างซ้าย ใช้นิ้วหัวแม่มือทางขวากดบริเวณจุดนวดในลักษณะคว่ำมือ และนิ้วที่ เหลือประคองไว้บริเวณแขนด้านนอก
- นวดไล่ตามแนวนวดแขนด้านในข้างซ้ายจากพับข้อศอกต่อเนื่องถึงข้อมือ โดยใช้นิ้วหัว แม่มือขวากดในลักษณะหงายมือ และนิ้วที่เหลือประคองรองไว้ใต้ท่อนแขนด้านล่าง
2) ท่านวดแขนด้านนอก แนวนวด - อยู่ทางด้านนอกของแขนเริ่มจากบริเวณต้นแขนด้านบน ต่อเนื่องกันจนถึงบริเวณข้อมือ เว้นบริเวณข้อศอก วิธีนวด
- วางมือในลักษณะคว่ำมือ ใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 ของมือขวากดไล่เรียงนิ้วต่อเนื่องกัน จาก บริเวณต้นแขนถึงบริเวณข้อศอกซ้าย
- สำหรับบริเวณต่ำกว่าข้อศอกซ้ายใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวากดในลักษณะหงายมือ กดเรียงนิ้วต่อเนื่องกันไปจนถึงบริเวณข้อมือซ้าย
- นวดสลับกันทั้ง 2 ข้างทั้งซ้ายและขวาของแขนด้านนอก
- หลังจากนวดแขนด้านในและแขนด้านนอก ให้นวดคลายฝ่ามือ หลังมือและนิ้วมือ
- การนวดแก้ปวดเมื่อยขา เหมาะสำหรับผู้ที่ยืน หรือเดินนานๆ แบ่งเป็นท่านวดขาด้าน ใน และท่านวดขาด้านนอก
1) ท่านวดขาด้านใน แนวนวด
- แนวนวดที่ 1 อยู่บริเวณกึ่งกลางขาด้านในท่อนบนชิดบริเวณขาหนีบ จนถึงบริเวณ หัวเข่าด้านใน
- แนวนวดที่ 2 อยู่บริเวณกล้ามเนื้อน่องใต้ข้อเข่าด้านข้าง แนวอยู่ชิดกระดูกสันหน้าแข้งด้านในถึงบริเวณตาตุ่มด้านใน
- แนวนวดที่ 3 อยู่บริเวณกึ่งกลางกล้ามเนื้อน่องด้านหลังถึงเอ็นร้อยหวาย
- จุดนวด อยู่บริเวณกึ่งกลางใต้ข้อพับเข่า วิธีการนวด
- เริ่มจากนวดขาด้านในซ้าย ให้นั่งพับเพียบให้ขาซ้ายอยู่หน้า ขาขวาอยู่ด้านหลัง การ นวดให้ใช้อุ้งมือขวากดเรียงนิ้วต่อเนื่องกันตามแนวนวดที่ 1 เพื่อเพิ่มน้ำหนักการกดอาจใช้นวดในลักษณะซ้อนมือ
- จุดนวดบริเวณกึ่งกลางใต้พับเข่า ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดในลักษณะคว่ำมือ
- นวดแนวนวดที่ 2 โดยใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวากดในลักษณะคว่ำมือ กดเรียงนิ้วชิดกับกระดูกสันหน้าแข้งด้านในต่อเนื่องกันไปจนถึงบริเวณตาตุ่มด้านใน
- นวดแนวนวดที่ 3 โดยใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 กดในลักษณะคว่ำมือแล้วให้หัวแม่มือซ้อนไขว้กด กดไปตามแนวนวด
- หลังนวดขาด้านใน ให้นวดคลายฝ่าเท้า และนิ้วเท้า
2) ท่านวดขาด้านนอก แนวนวด
- แนวนวดที่ 1 อยู่บริเวณเนื้อต้นขาด้านนอก ถึงบริเวณเหนือหัวเข่า
- แนวนวดที่ 2 อยู่บริเวณกึ่งกลางขาท่อนล่างใต้ข้อเข่าด้านข้าง จนถึงบริเวณตาตุ่มด้านนอก วิธีการนวด
- เริ่มจากนวดขาด้านนอกข้างขวา ใช้อุ้งมือข้างขวากดในลักษณะซ้อนมือ หรือจะใช้ข้อ ศอกข้างขวากดก็ได้ไปตามแนวนวดที่ 1 เพื่อเพิ่มแรงกด
- นวดตามแนวนวดที่ 2 ใช้นิ้วหัวแม่มือกดในลักษณะคว่ำมือกดเรียงนิ้ว ต่อเนื่องกันไปจน ถึงตาตุ่มด้านนอก
- หลังนวดขาด้านนอก ให้นวดคลายหลังเท้าและนิ้วเท้า
- นวดสลับกันทั้ง 2 ข้างทั้งซ้ายและขวาของขาด้านในและขาด้านนอก
- การนวดแก้ปวดเมื่อยหลัง เหมาะสำหรับผู้ที่ก้มทำงาน หรือมีการยืดกล้ามเนื้อหลัง ท่าเตรียม นั่งลักษณะคุกเข่า ตัวตรง
1) ท่านวดหลัง แนวนวด
- อยู่บริเวณกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลังตั้งแต่บริเวณบั้นเอวจนถึงใต้กระดูกซี่โครง ด้านหลัง วิธีการนวด
- เท้าเอวใช้หัวแม่มือทั้ง 2 ข้างกดบริเวณกล้ามเนื้อหลังในแนวนวด กดเรียงขึ้นไปตั้งแต่บั้นเอวจนถึงใต้กระดูกซี่โครง ได้ประมาณ 4 จุด
- หลังนวดให้นั่งคุกเข่าเท้าเอวใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 กดบริเวณกล้ามเนื้อหลัง บริเวณบั้นเอวหรือใช้กำปั้นกดก็ได้ พร้อมกับแอ่นตัวไปด้านหลังให้มากที่สุด เป็นการดัดคลายกล้ามเนื้อหลังหลังการนวด
จุดนวดและแนวการนวดเหมือนกับการนวดเพื่อสุขภาพด้วยตนเอง ส่วนวิธีการนวดและท่านวดจะแตกต่างกับการนวดเพื่อสุขภาพด้วยตนเอง โดยจะสอดคล้องกับตำแหน่ง อวัยวะที่ถูกนวดและจุดของการนวด ซึ่งการนวดเพื่อสุขภาพให้ผู้อื่น สามารถแบ่งออกเป็น การนวดคลายเครียด การนวดแก้ปวดเมื่อยแขน การนวดแก้ปวดเมื่อยขา และการนวดแก้ปวดเมื่อยหลัง ซึ่งรายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในที่นี้
การนวดเพื่อถนอมรักษาสายตา ของ รศ. นพ. กรุงไกร เจนพาณิชย์
- ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับการนวดถนอมรักษาสายตา
1) ต้องตัดเล็บให้สั้น เพื่อมิให้ไปขีดข่วนใบหน้า
2) ไม่ใส่แหวนและต่างหูเพราะอาจจะขูดใบหน้าทำให้เกิดบาดแผลได้
3) ต้องล้างมือและหน้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนทำการนวด
4) งดการนวดเมื่อมีไข้ ใบหน้าเป็นสิว ฝี หรือมีโรคผิวหนัง
5) เริ่มนวดตั้งแต่น้อยครั้ง เช่น 5-10 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มทีละน้อย
6) ตั้งใจนวด มิใช่ทำเสร็จไป หรือทำลวก ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรทำสมาธิไปพร้อม ๆ กันด้วย
7) การนวดต้องทำเป็นประจำจึงจะได้ผล ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ
- วิธีการนวดถนอมรักษาสายตา
1) ท่าเสยผม ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดขอบกระบอกตาบนให้แน่นพอสมควร ทำทั้ง สองข้างพร้อม ๆ กัน ค่อยดันนิ้วทั้ง 3 นิ้วเรื่อยขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยแบบเสยผม ทำ 10 ครั้ง
2) ท่าทาแป้ง โดยใช้นิ้วกลางทั้งสองกดตรงหัวตา (โคนสันจมูก) ให้แน่นพอสมควรดัน นิ้วขึ้นไปจนถึงหน้าผาก แล้วใช้นิ้วทั้งหมด (เว้นหัวแม่มือ) แตะหน้าผากโดยให้ปลายนิ้วมือจรดกัน แล้วลูบลงไปข้างแก้มแบบแนบสนิทมายังคาง ทำ 10 ครั้ง
3) ท่าเช็ดปาก ใช้ฝ่ามือขวา ทาบบนปากลากมือไปทางขวาให้สุด ให้ฝ่ามือกดแน่นกับปาก พอควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทาบปากแล้วทำแบบเดียวกันนับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10 ครั้ง
4) ท่าเช็ดคาง ใช้หลังมือขวาทาบใต้คาง แล้วลากมือจากทางซ้ายไปขวาให้หลังมือกดแน่น กับใต้คางพอควร เปลี่ยนใช้มือซ้ายทำแบบเดียวกัน นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10 ครั้ง
5) ท่ากดใต้คาง ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างกดใต้คาง โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับคาง ใช้ แรงกดพอควร (นาน 10 วินาที หรือ นับ 1-10 อย่างช้า ๆ ) เลื่อนจุดกดห่างจุดเดิม 1นิ้วมือ แล้วกดทำให้ทั่วใต้คางเฉพาะทางด้านหน้า ได้ประมาน 5 จุด
6) ท่าถูหน้าหูและหลังหู ใช้มือแต่ละข้างคีบหู โดยกางนิ้วกลางและนิ้วชี้คีบอย่างหลวม ๆ วางมือให้แนบสนิทกับแก้ม ถูขึ้นลงแรง ๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ 10 ครั้ง
7) ท่าตบท้ายทอย ใช้ฝ่ามือปิดหู (มือซ้ายปิดหูซ้าย มือขวาปิดหูขวา) ใช้นิ้วทั้งหมดอยู่ตรงท้ายทอย และปลายนิ้วกลางจรดกัน กระดิกนิ้วให้มากที่สุด แล้วตบที่ท้ายทอยพร้อมกันทั้ง 2 มือด้วยความแรงพอควร ทำ 10 ครั้ง(ต้องไม่ยกฝ่ามือออกจากหูขณะตบท้ายทอย)
เมื่อทำครบทั้ง 7 ท่าแล้ว จะรู้สึกหัวโปร่ง เบาสบาย ตาสว่าง รู้สึกสดชื่น ควรทำวันละ 2 ครั้งคือตอนเช้าและตอนเย็น
ที่มา http://www.baanjomyut.com/library/massage_health/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น